514 จำนวนผู้เข้าชม |
ทุกคนในองค์กร ตั้งแต่ผู้นำจนถึงผู้ปฏิบัติงาน ต้องมีทัศนคติเชิงบวกต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ถี่ขึ้นรุนแรงขึ้นเป็นเรื่องปกติ และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ความพร้อมในการรับมือและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันต่อสถานการณ์ไม่ใช่แค่เพียงฝึกอบรม หรือคำพูดที่ดูดี ดูเท่ห์ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการคิด มีแนวทาง มีกระบวนการ มีขั้นตอน นำสู่การปฏิบัติได้จริง
1. การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจของผู้นำ ที่ต้องชัดเจนในหลักการบริหาร ทิศทาง
2. การสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ การเพิ่มทักษะ จนถึงการปรับปรุงและพัฒนาได้ด้วยตนเอง ผู้นำไม่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ด้วยตนเองเพียงคนเดียว ต้องอาศัยทุกคนในองค์กร การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้ทุกคนร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาได้ จะทำให้องค์กรรุกได้รวดเร็ว พลิกจากวิกฤติเป็นโอกาสได้ไม่ยากเย็น
3. การเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ ของผู้นำให้กับผู้จัดการ ผู้จัดการให้กับพนักงาน ทำให้เกิดความเข้าใจในวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ ลงไปสู่การปฏิบัติ การเรียนรู้ที่ถ่ายทอดกันเป็นลำดับขั้น จะทำให้มั่นใจได้ว่า ทุกคนในองค์กรเข้าใจในทิศทางองค์กรเป็นอย่างดี ตรวจสอบง่าย
4. วัฒนธรรมการทำงานแบบ “การทำงานข้ามสายงาน (Cross Functional Team)” ที่ทุกหน่วยงาน/แผนก ร่วมกันทำงานตอบสนองนโยบายของผู้นำ แล้วนำประเด็นที่เกี่ยวข้องลงสู่การทำงานในหน่วยงาน/แผนกของตนเอง ให้สอดคล้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ได้แก่ การร่วมกันทำ SWOT Analysis เพื่อนำสู่การจัดทำกลยุทธ์ให้เหมาะสมและได้เปรียบการแข่งขัน ตามสถานการณ์ไม่ว่าจะปกติหรือมีความผันผวนอย่างไร ? การแก้ปัญหาร่วมกัน ปัญหาเรื้อรังล้วนเกิดจากกระบวนการทำงานร่วมกันเชื่อมโยงสัมพันธ์กันจนไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานเดียวต้องร่วมแก้ปัญหากันแบบ Cross Functional Team
5. การทำงานตามผังกระบวนการ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าภายใน (Market-in) การทำงานที่ต้องรู้ว่าลูกค้าภายในของเรา (กระบวนการถัดไป) มีความต้องการอะไร ? ต้องตอบสนองให้ถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา การตอบสนองความต้องการของลูกค้าภายในได้ทุกขั้นตอน นั่นคือลูกค้าจะได้รับการตอบสนองความต้องการอย่างถูกต้องด้วย
6. การทำงานตามมาตรฐานที่กำหนด และยกมาตรฐานให้สูงขึ้น การทำงานที่มีการปรับปรุงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา นั่นคือการทำงานได้ถูกต้องตามมาตรฐาน ซึ่งเราต้องยกมาตรฐานขึ้นเพื่อก้าวไปสู่ความได้เปรียบในการแข่งขัน อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ตื่นตัว ปรับตัวตลอดเวลา
7. การ Feedback ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงตลอดเวลา เพื่อการวิเคราะห์ และนำไปสู่การตัดสินใจในเวลาที่เหมาะสม ข้อมูลการวิเคราะห์ที่ถูกต้องจะเป็นจุดแข็งขององค์กรที่จะคอยป้องกันความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น
8. การวิเคราะห์ปัจจัยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ (SWOT Analysis) เป็นสิ่งสำคัญมากในการเรียนรู้ ถึงประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การกำหนดกำหนดกลยุทธ์ การแข่งขัน การป้องกัน ลด หลีกเลี่ยงความเสี่ยง ที่มาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ถี่ขึ้นรุนแรงขึ้น ตลอดจนการประเมินและควบคุมกลยุทธ์ในการหาแผนรองรับอีกชั้น
ความพร้อมในการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ถี่ขึ้นรุนแรงขึ้น คงเป็นไปไม่ได้ถ้าจะมีเพียงการฝึกอบรม และพูดสร้างภาพ แต่จะต้องมีกระบวนการ มีวิธีการ เป้าหมายที่ชัดเจน ปฏิบัติจนเกิดทักษะที่ดี ไม่เพียงแต่จะใช้ในการป้องกัน ลด หลีกเลี่ยงความเสี่ยง ในช่วงเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจเท่านั้น ในยามปกติก็จะทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันด้วย นี่แหละที่เป็นการปฏิบัติที่เป็น Next Normal
“เราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจขึ้นเมื่อใด แต่เรารู้ว่าจะสร้างจุดแข็งได้อย่างไร”