589 จำนวนผู้เข้าชม |
สถานการณ์การเกิดโรคระบาด Covid-19 ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจ มีปัญหาด้านเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง หลังจากเริ่มเบาบางลงก็เกิดสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้น้ำมัน แก๊ส พลังงาน และวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เกิดเงินเฟ้อ ประกอบกับสหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาเงินเฟ้อเช่นกัน สาเหตุมาจากมาจากการบริหารการเงินผิดพลาดในช่วงสถานการณ์การเกิดโรคระบาด Covid-19 ทั้งหมดนี้จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกและของไทยเกิดภาวะชะลอตัวถึงถดถอย จะเห็นได้ว่าในช่วง 3-4 ปีนี้ เศรษฐกิจมีความผันผวนถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อน ๆ ที่ผ่านมาที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
คาดการณ์ว่าการเกิดความผันผวนที่ถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น จะเป็นวงจรแบบนี้ถี่ขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องปกติต่อไป หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น Next Normal ถ้าเราเข้าใจและยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าเรื่องใดก็ตามล้วนแล้วเป็นเรื่องปกติของโลก การทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน
เมื่อเราเข้าและยอมรับในความเป็นปกติของการเปลี่ยนแปลง เราก็จะหาวิธีการ แผนงาน กลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นให้ได้ โดยไม่รู้สึกตื่นตระหนกว่าทำในสถานการณ์ผิดปกติ เพราะมันเป็นเรื่องปกติแบบ Next Normal
เราไม่สามารถควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจภายนอก (โอกาสและอุปสรรค) ได้ นั่นคือความเสี่ยง เราต้องมองเป็นเรื่องปกติ ส่วนปัจจัยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจภายใน (จุดแข็งและจุดอ่อน) เราสามารถควบคุมได้ อันนี้แหละที่เราต้องจัดการให้ได้เพื่อเป็นเขื่อนป้องกันความผันผวนที่ถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น ที่ผ่านมาธุรกิจอาจจะไม่ได้มุ่งเน้นมากนัก (Focus) แต่ต่อไปนี้ Next Normal ธุรกิจต้องมุ่งเน้น (Focus) การสร้างจุดแข็งผ่านเครื่องมือ Value Chain Analysis ให้เป็นเรื่องปกติ
แล้วการดำเนินธุรกิจอย่างไรที่เป็นแบบ Next Normal
1. ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน มีความเข้าใจ Next Normal
2. ปรับ Mindset ทุกคนในองค์กรตั้งแต่ผู้นำจนถึงผู้ปฏิบัติให้เข้าใจ Next Normal
3. บริหารโครงสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่ง คือ โมเดลธุรกิจ และแผนธุรกิจ
4. ข้อมูลสารสนเทศที่ใช้ในการจัดการในกระบวนการที่จะป้อนกลับอย่างถูกต้องรวดเร็ว สำหรับการตัดสินใจในการบริหารธุรกิจ
5. ปรับการทำ SWOT Analysis ให้ถี่มากขึ้น เพราะต้องติดตามปัจจัยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจภายนอกอยู่สม่ำเสมอ
6. ทำความเข้าใจถึงหลักการ Value Chain Analysis ซึ่งเครื่องมือวิเคราะห์หาจุดแข็งจุดอ่อนของธุรกิจ ต้องค้นหาจุดแข็งเพื่อไปบวกกับโอกาสภายนอกเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอย่างรวดเร็ว นำจุดแข็งไปป้องกันอุปสรรคภายนอก
7. บริหารต้นทุน (Cost Management) จัดทำและควบคุมงบประมาณ จัดทำต้นทุนมาตรฐานละควบคุมต้นทุน วิเคราะห์ต้นทุนที่เกิดขึ้น
8. บริหารการเงิน (Finance Management) วางแผนการเงิน ควบคุมกระแสเงินสด วงจรเงินสด
9. บริหารกระบวนการให้มีความต่อเนื่องไม่เกิดความสูญเปล่า มีตัวชี้วัด (KPI) และเป้าหมาย เข้าใจกระบวนถัดไปคือลูกค้า (ภายใน)
10. วินิจฉัยองค์กร เพื่อตรวจสุขภาพองค์กร ค้นหาปัญหาและปรับปรุงกระบวนการที่เป็นสาเหตุ
11. การเรียนรู้ การจัดการความรู้ การถ่ายทอดความรู้ความสามารถหลักขององค์กรให้กับพนักงานทุกคน
12. สอนให้ทุกคนมี Pareto Mindset ทำงานโดยใช้หลักการ 80/20 ทำน้อยได้มาก
13. สอนให้ทุกคนมี Kaizen Mindset ทุกงานสามารถปรับปรุงเล็กๆน้อยๆให้ดีขึ้นได้
14. คุณภาพสินค้าและบริการต้องรักษาให้ได้ตามมาตรฐาน จะทำให้รักษาลูกค้าไว้ได้ และลูกค้าจะบอกต่อเอง ทำให้ต้นทุนของธุรกิจต่ำ
ทั้ง 14 ข้อเป็นแนวทางที่จะทำให้ปัจจัยภายในเกิดจุดแข็งของธุรกิจ ถ้าธุรกิจมีจุดแข็งทั้ง Value Chain จะเป็นเหมือนเขื่อนที่ทำให้ป้องกัน ลด หลีกเลี่ยงความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นได้
“ธุรกิจจะอยู่กับความผันผวนที่ถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น อย่างเป็นปกติสุขได้ต้องสร้างจุดแข็งให้แข็งแกร่ง จะเป็นเขื่อนคอยป้องกันความผันผวนทางเศรษฐกิจได้”
ทั้ง 14 ข้อ จะเรียนรู้กันใน EP ต่อ ๆ ไป