483 จำนวนผู้เข้าชม |
การทำธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืนไม่ใช่เรื่องยากเย็น ถ้าเข้าใจความต้องการของลูกค้าและส่งมอบคุณค่าให้โดนใจลูกค้า กรณีศึกษาของ “ไอสครีมไผ่ทอง” เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่การดำเนินธุรกิจมากว่า 60 ปี แต่ธุรกิจยังมีรายได้และมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ย้อนกลับไปราว 6 ทศวรรษ “ไผ่ทอง ไอสครีม” ถือกำเนิดขึ้นโดย นายกิมเซ็ง แซ่ซี่ เคยเป็นพนักงานขายไอศกรีมของโรงงานแห่งหนึ่ง เขาทำงานไปและรู้สึกว่า รสชาติของไอศกรีมที่ออกมาจากโรงงานนั้นไม่คงที่ในแต่ละวัน จึงแจ้งเจ้าของ แต่กลับโดนต่อว่า ว่าเป็นแค่คนขายจะไปรู้อะไร ถ้าอยากจะทำให้ดีกว่านี้ ก็ไปทำเองสิ นายกิมเซ็งจึงตัดสินใจลาออกมาทำ ‘ไอติมกะทิสด’ ของตัวเอง ตอนแรกใช้ชื่อแบรนด์ ‘หมีบิน’ พอขายดีจึงเปิดโรงงานขายในจำนวนที่มากขึ้น นำเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นมาใช้ผลิตไอศกรีม และได้ปรับมาเป็นโลโก้รูปไผ่ (เพื่อความสิริมงคลตามความเชื่อคนจีน) จนกลายเป็น “ไผ่ทอง ไอสครีม” แบบทุกวันนี้ โดยเริ่มแรกทำเป็นธุรกิจครอบครัว พ่อ แม่ และลูกๆ 8 คน
นายบุญชัย ชัยผาติกุล บุตรชายนายกิมเซ็ง ผู้เป็นประธาน บริษัท ไผ่ทองไอศครีม จำกัด คนปัจจุบันได้ต่อยอดธุรกิจอย่างมืออาชีพ โดยมีการปรับสูตรให้เหมาะสมกับยุคสมัย ทำให้ทุกวันนี้ “ไผ่ทองไอศครีม” ติดตลาดและรู้จักในวงกว้าง
ลูกค้าของ “ไอสครีมไผ่ทอง” แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกคือ ตัวแทนจำหน่าย ลงทุนเปิดร้าน ซื้อตู้แช่สำหรับสต๊อกสินค้าให้คนมารับไปขายต่อ
กลุ่มที่สองคือ คนขายตรง เข้ามารับไอศกรีม แล้วนำไปขายด้วยตัวเอง เช่น รถเข็น
นับว่าเป็นธุรกิจที่มีช่องทางจำหน่ายที่เข้าถึงทุกคน ทำยอดขายได้อย่างน่าสนใจ เป็นธุรกิจที่สร้างคุณค่า สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้คนได้มากมาย บางคนขาย “ไอสครีมไผ่ทอง” มามากกว่า 10 ปี
ปัจจัยแห่งความสำเร็จโดยการวิเคราะห์ผ่านโมเดลธุรกิจ
หนึ่งคือ การส่งมอบคุณค่าที่โดนใจลูกค้า ซึ่งลูกค้าที่แท้จริงคือตัวแทนจำหน่าย และคนขายตรง (รถเข็น) คุณค่าที่ลูกค้าได้รับคือการมีอาชีพที่มีรายได้ที่ดี ทำมากยิ่งได้มาก มีช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก ทำให้อาชีพมั่นคง
สองคือ มีจุดแข็งที่ทรัพยากร สูตรการผลิตที่พัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย การรักษาคุณภาพสินค้าให้อยู่ในมาตรฐาน ทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจจนถึงประทับใจ เมื่อผู้บริโภคประทับใจก็จะซื้อซ้ำและบอกต่อ ส่งผลต่อผู้ขายมีรายได้เพิ่ม ไอศกรีมไผ่ทองก็มีรายได้เพิ่ม
สามคือ การมีวิสัยทัศน์ของ “ไอสครีมไผ่ทอง” และการเห็นโอกาสทางธุรกิจ นำมารวมกับจุดแข็งทางด้านทรัพยากร จึงเป็นกลยุทธ์เชิงรุกที่ได้เปรียบ
บริษัทที่ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ต้องให้แตกต่างจากตลาดที่มีอยู่อต้องมองเห็นธุรกิจของตัวเอง การมองแบบภาพใหญ่ (Big Picture) และมองภาพรวมให้ออก ด้วยการมองเห็นบนกระดาษแผ่นเดียวแล้วเห็นกลยุทธ์ได้ด้วย นั่นคือ Business Model Canvas (BMC)
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : ลงทุนแมน 6.0