378 จำนวนผู้เข้าชม |
เศรษฐกิจปัจจุบัน ทุกธุรกิจยังคงประสบกับปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กำลังซื้อน้อยลง ถามว่าระหว่างโควิด-19 กับเงินเฟ้อ อะไรน่ากลัวกว่ากัน ผมเชื่อว่าคนไม่กลัวโควิค-19 แล้ว แต่กลัวไม่มีเงินมากกว่า
แนวคิดเรื่องลดคน ผมยังแนะนำว่าให้มองเป็นเรื่องปลายทาง แต่ให้กลับมามองที่ต้นทางว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจขายของได้ก่อนเป็นอันดับแรก อาจต้องยอมขาดทุนกำไร เพื่อรักษายอดขาย ให้มีเงินหมุนเวียน ยกตัวอย่าง ช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ซบเซามาก ยักษ์ใหญ่อย่างแสนสิริยังใช้นโยบายรักษาสภาพคล่อง ด้วยการยอมลดราคาเพื่อขายสต๊อกที่มีก่อน
วันนี้ผู้ประกอบการต้องยอมรับความจริง ว่าสถานการณ์มันไม่เหมือนเดิม แต่ธุรกิจยังมีต้นทุนลูกน้อง ต้นทุนการจัดเก็บ ค่าน้ำค่าไฟ ถ้าไม่มีเงินหมุนเวียนธุรกิจก็แย่ ดังนั้นต้องคิดว่าจะทำยังไงให้มีเงินหมุนเวียนก่อนในช่วงนี้ การขึ้นราคาอาจทำได้ในระยะสั้น ระยะยาวลูกค้าประจำหนีแน่นอน เพราะฉะนั้นในแง่ธุรกิจต้องรักษาลูกค้าไว้ให้ได้ หรือจะทำยังไงให้ได้กำไรเท่าเดิม หลายกิจการ เวลาที่ขายดีมักลืมมองตัวเอง ของในสต๊อกไม่หมุนเวียนไม่เคยรู้ หรือรู้แต่บอกว่าไม่มีเวลาดู
ยกตัวอย่าง ลูกค้าสั่งผลิตสินค้ามา 100 ชิ้น ซึ่งปกติเวลาผลิตมักมีของเสีย 5 ชิ้น ดังนั้นสั่งผลิตเลย 105 ชิ้น กรณีนี้จะเห็นว่า
1.ถ้าได้ของดีหมดคือได้ 105 ชิ้น ขายไป 100 ชิ้น เท่ากับเหลือ 5 ชิ้น นั่นคือกำไร และต้นทุนส่วนหนึ่ง
2.ถ้ามีของเสีย 5 ชิ้น นั่นแสดงว่าเราไม่มีความระมัดระวังในการผลิต จึงปล่อยให้เกิดของเสีย 5 ชิ้น นั่นก็คือกำไร และต้นทุนส่วนหนึ่ง ซึ่งตามหลักแล้วเราควรผลิตแบบไม่ให้มีของเสียเลย ถูกไหมครับ ตรงนี้แหละจะเป็นกำไรที่ไม่สูญหายไปไหน
บางทีในวิกฤติถ้าเรามาตั้งรับกันดี ๆ ฝ่ายขายก็จะมองเห็นอะไรหลาย ๆ อย่าง มันอาจจะไม่ได้ตั้งรับอย่างเดียว อาจจะรุกในบางเรื่องได้ด้วย ต้องวิเคราะห์กันจริง ๆ ต้องมีสติ รู้ว่าธุรกิจยังไปได้ ไม่ได้ถูก Disruption 100% หรือแม้ถูก Disruption แต่ก็ยังปรับเปลี่ยนได้
สรุปคือ
1.ต้องมีสติ
2.ต้องยอมรับความจริง
3.เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ
ในหนังสือคัมภีร์บริหารสู่ความยั่งยืน ผมได้เขียนเชื่อมโยงเรื่องผู้ประกอบการบางรายไม่เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมวิเคราะห์ SWOT ไม่ยอมรับความจริง คิดว่าธุรกิจยังไปได้ เมื่อเจอปัญหาระยะยาว จึงปรับตัวกันไม่ทัน
บางครั้งในวิกฤติก็ทำให้ได้เห็นโอกาสดี ๆ ใหม่ ๆ นะครับ เช่น
1.ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ต้องเข้าไปใกล้ชิดกับลูกค้า ได้ฟังเสียงจากลูกค้า ทำให้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคตได้
2.ได้พัฒนากระบวนการภายในขององค์กรให้ถูกต้อง แล้วดำเนินธุรกิจต่อไปด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง
3.ได้ถ่ายทอดความรู้หลักให้พนักงาน พนักงานสามารถทำงานได้เต็มที่และช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้
ซึ่งแนวทางการบริหารแบบนี้จะช่วยให้ธุรกิจโตได้มากกว่า ไม่มีธุรกิจไหน ที่ผู้บริหารสามารถเป็นทั้งฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต ได้ทั้งหมดในคนเดียว เพราะฉะนั้นต้องมีความไว้วางใจคนในองค์กรด้วย
กลับมาที่เรื่องของการตั้งรับ ผมยังแนะนำว่าธุรกิจควรแบ่งกองกำลังออกเป็น 4 กอง
กองหน้า คือ ฝ่ายขายและการตลาด ต้องรักษาลูกค้าเก่าให้ได้
กองกลาง คือ ฝ่ายผลิตและบริการขนส่ง โลจิสติกส์ ต้องหาทางลดต้นทุนให้ได้
ส่วนกองหลัง คือ ฝ่ายบัญชี ต้องรักษาสภาพคล่องทางการเงินไว้ให้ได้
กองสนับสนุน คือ HR ต้องไม่หยุดพัฒนาคน ให้คนมีทักษะเพิ่มขึ้น
ดังที่มีคนกล่าวไว้ว่า “ยอดขายเพิ่มทำให้บริษัทเติบโต แต่การลดต้นทุนได้ทำให้บริษัทยั่งยืน”
ยังมีมุมมอง มุมคิด ที่ผมต้องการแบ่งปันแลกเปลี่ยนกับ SMEs ทุกท่าน
อีกหลายเรื่อง ติดตามกันได้ในตอนต่อไปครับ
อ.วีรปรัชญ์ สิงห์สัตย์
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจ BCI