397 จำนวนผู้เข้าชม |
(ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจ วิกฤติเศรษฐกิจ สังคมและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการต่างเจอภาวะหนัก ที่ยากจะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีผ่านมานี้ โลกธุรกิจต่างประสบมหันตภัยครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19, การลุกลามของภาวะสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย อันทำให้ผลกระทบลุกลามไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วโลก นับเป็นอุบัติการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
คำถามที่ตามมาคือ ผู้ประกอบการจะสามารถรับมือหรือเตรียมการได้อย่างไร ? ในสภาวะนี้ วิกฤติที่ถาโถม ทั้งได้รับผลกระทบด้วยตนเองและได้รับผลกระทบที่ตามมาจากหลายภาคส่วน
สำนักพิมพ์วิช โดยผู้ทรงคุณวุฒิ และกูรูจากผู้เชี่ยวชาญ ขอนำเสนอองค์ความรู้ ที่ได้กลั่นและตกผลึกมาสู่รูปเล่มให้ได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อเตรียมรับมือ เตรียมความพร้อม และสามารถแก้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญให้อยู่ได้ พร้อมทั้งสามารถปรับกระบวนการและกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อสามารถต้านแรงคลื่นวิกฤติทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี จึงจัดแถลงข่าวเปิดตัว 3 หนังสือ 3 ศาสตร์จำเป็น สำหรับผู้ประกอบการ ผู้บริหารและผู้สนใจที่พร้อมจะเตรียมความพร้อมไปกับโลกแห่งวิวัฒนาการและเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุก ๆ วัน ณ เวทีกลาง งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00–17.00 น. ที่ผ่านมา
อ.วีรปรัชญ์ สิงห์สัตย์ ที่ปรึกษาธุรกิจและวิทยากรด้านการบริหารธุรกิจ ผู้เขียนหนังสือ คัมภีร์บริหารธุรกิจสู่ความยั่งยืน ได้กล่าวว่า “หนังสือ คัมภีร์บริหารธุรกิจสู่ความยั่งยืน เกิดจากการที่อาจารย์ไปเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทต่าง ๆ แล้วพบว่าหลายที่ยังมีหลักการการบริหารที่ไม่ชัดเจน เมื่อเกิดสึนามิทางเศรษฐกิจ เกิดปัญหาขึ้นมา จึงไม่รู้ว่าจะบริหารอย่างไร โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด-19 อาจารย์ได้ให้คำปรึกษาหลายองค์กร ทำให้พบเห็นปัญหามากหมายของผู้ประกอบการ จึงได้รวบรวมบทเรียน โดยคิดว่าถ้าเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ SMEs จะทำอย่างไร อาจารย์มองว่า SMEs ก็เหมือนบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งถ้ามีโครงสร้างไม่แข็งแรง ธุรกิจก็ไปต่อไม่ไหว ดังนั้นเราต้องทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งด้วยการมีหลักการ มีหลักคิดที่ชัดเจน โดยใช้การจัดการที่เรียกว่า TQM Total Quality Management มาเป็นหลักการในการบริหารที่ยั่งยืน ในหนังสือจะบอกเลยว่าต้องใช้หลักคิดอย่างไร มีกระบวนการอย่างไร มีเครื่องมืออะไรบ้าง มีแบบฟอร์มให้ มีกรณีศึกษาให้ สามารถนำไปใช้ได้เลย หนังสือเล่มนี้จึงมีคุณค่ามากสำหรับผู้บริหารผู้นำที่จะบริหารให้พ้นวิกฤติไปให้ได้
หนังสือเล่มนี้ แบ่งออกเป็น 4 หมวดใหญ่ คือ หนึ่ง เรื่องของงาน การเขียน Business Model และนำสู่การปฏิบัติด้วยผังกระบวนการที่ชัดเจน ลดปัญหาเรื่องการสื่อสารลง สอง เรื่องการวิเคราะห์ SWOT และการกำหนดกลยุทธ์ ทุกธุรกิจต้องเจอปัญหาแน่นอนก็ต้องมีการวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์ตามสภาพเวลาหรือเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป สาม เรื่องการเรียนรู้และการมอบหมายงานอย่างชัดเจน เพราะทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดของบริษัทก็คือเรื่องความรู้ และสี่ เรื่องของผู้นำผู้บริหารจำเป็นต้องวินิจฉัยองค์กรให้ได้ ปัญหาอยู่ตรงไหน ต้องพัฒนาอะไรต่อ นี่คือ 4 หมวดใหญ่ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ครับ หนังสือเล่มนี้ผมขอเน้นที่ผู้นำและผู้บริหารว่าจำเป็นต้องอ่าน เพื่อที่จะวินิจฉัยองค์กรให้ได้ และปรับปรุงธุรกิจให้ได้”
ศุภวิทย์ ภาษิตนิรันดร์ (เซนเซเล็ก) หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ Critical Thinking for Reasoned Decision Making อดีตคณะกรรมการและผู้จัดการโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ได้กล่าวว่า ถึงงานวิจัยระดับโลกระบุว่า Critical Thinking คือทักษะของอนาคตของคนทำงานทุกคน การเรียนรู้กระบวนการทักษะ (Critical Thinking) ทำให้สร้างการเติบโตในกระบวนการทำงานและการใช้ชีวิต Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์) คือการคิดอย่างมีหลักการ เป็นการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ที่มีการสร้างสมมติฐานและหาข้อสรุปอย่างมีหลักชัดเจน ถูกต้อง ถี่ถ้วน สามารถเชื่อมโยงเป็นตรรกะได้ เช่นเดียวกับทำให้การโต้แย้งต่าง ๆ นั้นมีหลักการ ไม่ใช่การโต้แย้ง หรือการตัดสินใจโดยไร้เหตุผล ไม่สามารถเข้าใจได้ และโลกแห่งอนาคตนั้นจะมีความซับซ้อนและมีปัญหาที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ศาสตร์นี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
หนังสือ Critical Thinking เป็นหนังสือที่มองถึงปัญหาที่เราพบเจอที่มีสภาพไม่แน่นอนและแปรปรวน เวลาเราเจอสิ่งที่เราไม่เคยเจอมาก่อนในโลกใบนี้ เราจะทำการจัดการอย่างไรที่สามารถข้ามวิกฤติตรงนั้นได้ การที่เราสามารถแก้ปัญหาที่ผันผวนไม่แน่นอน สิ่งที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน เราใช้ Critical Thinking สามารถช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ครับ
เวลาเราอ่านหนังสือสักเล่มหนึ่ง ควรมีความคาดหวังว่า จะได้รับอะไรกลับไป แล้วมองหาวิธีการที่เข้าใจง่าย แล้วปฏิบัติได้จริง แล้วจะได้ผลลัพธ์กลับไป
คำว่า Critical Thinking ถ้าอธิบายง่าย ๆ คือ เราต้องมีต่อมเอ๊ะ ! เอ๊ะ ! มันใช่แบบนี้จริงเหรอ เอ๊ะ ! วิธีการนี้มันเวิร์คจริงเหรอ เมื่อเรามีต่อมเอ๊ะ ! เราจะเริ่มฉุกคิดว่า ถ้ามันไม่ใช่ เรามีวิธีอื่นอีกหรือไม่ เป็นการคิดวิพากษ์ แทนที่เราจะรอคนอื่นมาวิพากษ์ เราวิพากษ์ความคิดตัวเองก่อน ทำให้เราสามารถมีมุมมองและมีทางเลือกสำหรับชีวิตได้มากยิ่งขึ้น
คนที่จะมี Critical Thinking ที่ดี ต้องเป็นคนที่มีความอยากรู้ ไฝ่รู้ อยากเรียนรู้ และขี้สงสัย ถ้าไม่ใช่แบบนี้ มันจะใช่อย่างไร ย้อนกลับไปเหมือนสมัยเด็ก ๆ เด็ก ๆ จะมีความ Critical Thinking สูงกว่าผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เราทำงานโดยที่เรามีรูปแบบเดิม ๆ แต่ถ้าเป็นเด็ก เด็กก็จะถามว่า ทำไมต้องเป็นแบบนี้ล่ะ ถ้าไม่ใช่แบบนี้ทำอย่างอื่นได้ไหม แค่เราลองวางสิ่งที่เรารู้แล้วย้อนกลับไปเป็นเด็กสักนิด เราจะเป็นคนที่มี Critical Thinking ได้สูงขึ้นสำหรับการคิดแบบ Critical Thinking มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้เราเป็นคนใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม เกิดขึ้นได้จาก 2 วิ วิที่หนึ่งคือวิกฤติ เมื่อเจอวิกฤติเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้เอาตัวรอด วิที่สองคือวิสัยทัศน์ ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยไม่สะบักสะบอมและสง่างามมากกว่าคนอื่น หาวิสัยทัศน์ให้เจอ จงใช้ Critical Thinking เป็นเครื่องมือช่วยให้คุณสามารถพัฒนาตนเองให้แตกต่างจากคนอื่นผ่านวิสัยทัศน์ของคุณครับ”
ในขณะที่วิกฤติได้เกิดขึ้นแล้ว ศาสตร์จำเป็นที่เราต้องเรียนรู้เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และมองหาทางออกจากปัญหาอย่างได้ผล นั่นคือ ศาสตร์ของ Crisis Management หรือ การบริหารจัดการภาวะวิกฤติ เขียนโดย ดร.ทรงวุฒิ ดีจงกิจ วิทยากรด้านการบริหารและจัดการภาวะวิกฤติ อาจารย์พิเศษ และที่ปรึกษาองค์กรธุรกิจชั้นนำ กล่าวว่า “หนังสือ Crisis Management เกิดจากการที่ผมสังเคราะห์บทเรียน บทความ งานวิจัยต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ย้อนหลังไปกว่า 40 ปีที่ผ่านมา เอามาวิเคราะห์ตีแตกนำเสนอเป็นโมเดลที่เข้าใจได้ง่าย สามารถนำไปปฏิบัติได้ โครงสร้างของหนังสือเต็มไปด้วยเรื่องราว รูปภาพ ตัวอย่าง และมีเช็คลิสต์ ว่าถ้าเจออะไร ต้องทำอย่างไรบ้าง ถึงจะฝ่าวิกฤติไปได้ เปรียบเทียบกับการโต้คลื่นซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย หนังสือเล่มนี้มีแผนภาพช่วยให้เข้าใจได้ง่าย ตัวหนังสือไม่มาก อ่านง่าย แต่เต็มไปด้วยข้อมูลทางวิชาการ ข้อเท็จจริงทางธุรกิจ คนที่เคยเจอวิกฤติแล้วไปรอด รอดได้ด้วยวิธีอะไร หนังสือเล่มนี้แยกเนื้อหาออกเป็น 9 หมวด มีวิธีแก้แต่ละหมวด และเชื่อมโยงกันด้วยตรรกะและหลักการที่ชัดเจนเป็นกรอบเดียวกันหมด
ซึ่งการสื่อสารด้วยภาพในหนังสือเล่มนี้ จะทำให้เห็นองค์รวม กระบวนการจริง ๆ มี 5 ขั้นตอน ในเรื่องของการจัดการวิกฤติ ซึ่งแต่ละขั้นตอน จะมีขั้นตอนย่อยและมีการยกตัวอย่างอธิบายอย่างชัดเจน จากกรณีศึกษาที่เป็นเชิงธุรกิจอย่างแท้จริง เช่น Blockbuster, Toyota, United Airlines และอีกหลายกรณีที่เป็นธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ดูว่าเขารอดมาได้ด้วยวิธีอะไร ในวิกฤติแต่ละ Stage ต้องทำอย่างไร มีการสื่อสารอย่างไร ภายในภายนอก ถูกที่ถูกเวลา ต้องทำอย่างไร ไปให้ถูกจังหวะ แล้วจะรู้จังหวะได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้มีข้อแนะนำ จังหวะแต่ละจังหวะที่ก้าวไปสัญญาณเตือนคืออะไร อะไรคือจุดที่เปลี่ยน Stage แล้ว จุดนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่ทำให้เรารู้ว่า เราควรที่จะต้องวางแผน เพื่อจะทำอะไร ในเวลาที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นในแง่ของการวางแผน จงมองโลกในแง่ร้าย ถ้าเราเห็นเหว เราจะรู้ว่าเราต้องทำตัวอย่างไร ดังนั้นเราต้องประเมินก่อนว่าเหวมันคือตรงไหน เราจะได้หาวิธีจัดการที่ ถ้าเราตกเหวแล้วเจ็บน้อยต้องทำอย่างไร แต่ถ้าในเหวมีโอกาส การกลับมาอย่างสง่างามในโอกาสที่เรามองเห็นในก้นเหว มันเหมือนกับการตายแล้วเกิดใหม่ บางครั้งก็ต้องยอมบางอย่างเพื่ออนาคต
เพราะจริง ๆ แล้ว ในความคิดของการวางแผน เหวมันเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ ความลึกของเหวมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นถ้าคิดวางแผนเพื่อเตรียมตัว จงมองโลกในแง่ร้ายที่สุดไว้ก่อนแล้วเราจะไม่เจ็บหนัก กรณีที่เกิด Worst-Case Scenario ขั้นแรกเลยต้องตั้งสติ แล้วดูว่าเราเหลืออะไร เราจะใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร เพื่อให้เราประคองผ่านช่วงวิกฤติ แล้วค่อยเตรียมตัวเหินฟ้าอีกครั้ง เหมือนการโต้คลื่น มันต้องรอจังหวะเวลาคลื่นมา แต่เราต้องไปอยู่ที่หัวคลื่นก่อน เพื่อให้ขึ้นได้ทันเวลาคลื่นมา ซึ่งนอกจากจะทำให้รอดแล้ว ยังจะกลับมาได้อย่างรวดเร็วด้วย เพราะช่วง Recover เป็นช่วงที่ต้องแข่งกัน
หนังสือเล่มนี้จะช่วยดึงสติ ไม่ให้จมอยู่กับสิ่งที่เจอ อย่ามองแค่สิ่งที่เสีย ต้องมองสิ่งที่เหลือ บางทีเราอาจมีสิ่งที่มีอยู่แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จังหวะนี้ควรดึงสติกลับมา เราอาจเจอขุมทรัพย์ที่เราเมินเฉยกับมันก็ได้ ฝากไว้ว่าอยากให้ลองอ่านดู มันจะช่วยดึงสติเราว่าเจอจังหวะไหน แล้วเราจะต้องทำอย่างไร”
หนังสือศาสตร์จำเป็นแห่งโลกธุรกิจทั้ง 3 เล่มนี้ อันได้แก่หนังสือ 1.คัมภีร์บริหารธุรกิจสู่ความยั่งยืน เขียนโดย อ.วีรปรัชญ์ สิงห์สัตย์ 2.หนังสือ Critical Thinking for Reasoned Decision Making เขียนโดย ศุภวิทย์ ภาษิตนิรันดร์ (เซนเซเล็ก) และ 3. Crisis Management หรือ การบริหารจัดการภาวะวิกฤติ เขียนโดย ดร.ทรงวุฒิ ดีจงกิจ โดยสำนักพิมพ์วิช ผลิตในรูปแบบ Self-Publishing ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านได้กลั่นกรององค์ความรู้อย่างดีที่สุดเพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำความรู้ ความเข้าใจไปปรับใช้ในการบริหารชีวิตและธุรกิจได้อย่างดีและรอดพ้นได้ทุกวิกฤติ
จารุวรรณ เวชตระกูล ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์วิช กล่าวว่า “หลายปีที่ผ่านมานี้ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการท้าทายสำหรับผู้บริหาร ผู้ประกอบการ องค์กรธุรกิจ เป็นเหตุให้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือกูรูหลาย ๆ ท่าน ต่างร่วมกันการถ่ายทอดประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ ออกมาในรูปแบบหนังสือ เพื่อให้ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่มี สามารถนำมาช่วยเหลือสังคม และคนหมู่มากได้ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ อย่างหนังสือ คัมภีร์บริหารธุรกิจสู่ความยั่งยืน การแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติ จากเทคนิควิธีคิดต่าง ๆ อย่างหนังสือ Crisis Management การบริหารจัดการภาวะวิกฤติ หรือ การสร้างกระบวนการคิดและการสนองตอบต่อสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างหนังสือ Critical Thinking for Reasoned Decision Making ทั้งสามเล่มนี้ อยากจะเชิญชวนให้ได้ศึกษา เรียนรู้ เชื่อเหลือเกินว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงาน วางแผนงาน และการบริหารชีวิต”
สำหรับผู้ที่สนใจ หนังสือ คัมภีร์บริหารธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยอาจารย์วีรปรัชญ์ สิงห์สัตย์ ราคา 295 บาท Critical Thinking for Reasoned Decision Making โดย ศุภวิทย์ ภาษิตนิรันดร์ (เซนเซเล็ก), ธเนศ นะธิศรี, ปริเวท วรรณโกวิท ราคา 349 บาท และ Crisis Management การบริหารจัดการภาวะวิกฤติ เขียนโดย ดร.ทรงวุฒิ ดีจงกิจ ราคา 265 บาท สามารถหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศหรือสั่งซื้อหนังสือออนไลน์ได้ที่ www.se-ed.com และ www.wishbookmaker.com สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ 02 418 2885